กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

สังคม หรือ สังคมมนุษย์ คือการอยู่รวมกันของมนุษย์โดยมีลักษณะความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันหลายรูปแบบ เช่น อาชีพ อายุ เพศ ศาสนา ฐานะ ที่อยู่อาศัย ฯลฯ สำหรับระบบสังคมที่รวมถึงสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นนอกเหนือจากมนุษย์อาจใช้คำว่าระบบนิเวศ ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆกับสภาพแวดล้อม สังคมของมนุษย์เกิดจากกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจร่วมกันไม่ว่าจะในด้านใด เช่น ประเทศ จังหวัด และอื่นๆ และมักจะมีวัฒนธรรมหรือประเพณีรวมถึงภาษา การละเล่นและอาหารการกินของตนเองในแต่ละสังคม การที่มนุษย์รวมกันเป็นสังคมนั้น ช่วยให้มนุษย์สามารถสร้างและพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งอาจเป็นไปไม่ได้ถ้าต้องทำสิ่งนั้นโดยลำพัง ขณะเดียวกันสังคมที่พัฒนาหรือกำลังพัฒนาเป็นเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการทำงานอย่างมากนั้น ก็อาจส่งผลให้ประชากรที่ไม่สามารถปรับตัวตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวหรือความรู้สึกว่าตนเองไม่มีส่วนร่วมในสังคมขึ้นมาได้

 

ศาสนา (อังกฤษ: religion) หมายถึง ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติ ในหลักอภิปรัชญาว่าทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้นมาดำรงอยู่และจะเป็นเช่นไรต่อไป มีหลักการ สถาบัน หรือประเพณี ที่เป็นที่เคารพโดยทั่วไป แล้วอาจกล่าวได้ว่า ศาสนาเป็นสิ่งที่ควบคุม และประสานความสัมพันธ์ของมนุษย์ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข คือ ให้มีหลักการ ค่านิยม วัฒนธรรมร่วมกันและวิถีทางที่มนุษย์เลือกใช้ในการดำรงชีวิต ให้สังคมเป็นหนึ่งเดียวกัน มีแนวทางไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยหลักจริยธรรม คุณธรรม ศิลธรรมที่เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน

 

สำหรับประเทศไทย ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภ์ทุกศาสนา ศาสนาสำคัญ และมีคนนับถือมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์

 

นอกจากการนับถือศาสนาแล้ว ยังมีความเชื่อไม่นับถือศาสนาด้วย เรียก "อศาสนา" (อังกฤษ: irreligion) และผู้ไม่นับถือศาสนาเรียก "อศาสนิก" (อังกฤษ: irreligious person)

 

ความหมายและความสำคัญ

1.   บอกถึงหลักอภิปรัชญา ว่าโลกนี้เกิดขึ้นมาจากอะไร และจะเป็นเช่นไร

2.   สอนหลักคุณธรรมศีลธรรมจริยธรรมของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกัน

3.   ให้รู้จักการดำเนินชิวิตเช่นไรจึงจะถูกต้อง

4.   มีเป้าหมายในชีวิต เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่เพียงแต่เกิดมาเพื่อกิน และเสพกามเท่านั้น

5.   หลักศรัทธา ว่าทำดีได้รางวัลคือขึ้นสวรรค์ ทำชั่วได้โทษคือตกนรก ทำให้แม้จะลับตาคนไร้กฎหมายก็ไม่ทำชั่วทำแต่ดี

6.   เป็นที่พึ่งทางใจ ในยามชีวิตประสบปัญหาสิ้นหวัง ไร้กำลังใจ หรือปลอบประโลม ผู้สูญเสีย บุคคลอันเป็นที่รัก

7.   เป็นบ่อเกิดแห่งศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณี

 

องค์ประกอบ

1.     สิ่งเคารพสูงสุด

2.     ศาสดา

3.     คัมภีร์

4.     ผู้สืบทอด

5.     ศาสนสถาน

6.     สัญลักษณ์

7.     พิธีกรรม

 

วัฒนธรรม โดยทั่วไปหมายถึง รูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ วิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน

 

วัฒนธรรมส่วนหนึ่งสามารถแสดงออกผ่าน ดนตรี วรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม การละครและภาพยนตร์ แม้บางครั้งอาจมีผู้กล่าวว่าวัฒนธรรมคือเรื่องที่ว่าด้วยการบริโภคและสินค้าบริโภค เช่น วัฒนธรรมระดับสูง วัฒนธรรมระดับต่ำ วัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือวัฒนธรรมนิยม เป็นต้น แต่นักมานุษยวิทยาโดยทั่วไปมักกล่าวถึงวัฒนธรรมว่า มิได้เป็นเพียงสินค้าบริโภค แต่หมายรวมถึงกระบวนการในการผลิตสินค้าและการให้ความหมายแก่สินค้านั้น ๆ ด้วย ทั้งยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ทางสังคมและแนวการปฏิบัติที่ทำให้วัตถุและกระบวนการผลิตหลอมรวมอยู่ด้วยกัน ในสายตาของนักมานุษยวิทยาจึงรวมไปถึงเทคโนโลยี ศิลปะ วิทยาศาสตร์รวมทั้งระบบศีลธรรม

 

วัฒนธรรมในภูมิภาคต่าง ๆ อาจได้รับอิทธิพลจากการติดต่อกับภูมิภาคอื่น เช่น การเป็นอาณานิคม การค้าขาย การย้ายถิ่นฐาน การสื่อสารมวลชนและศาสนา อีกทั้งระบบความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนามีบทบาทในวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาโดยตลอด

 

วัฒนธรรม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

♦ วัฒนธรรมทางวัตถุ คือ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อความสุขทางกาย อันได้แก่ ยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องป้องกันตัวให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง

♦ วัฒนธรรมทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ เพื่อให้เกิดปัญญาและมีจิตใจที่งดงาม อันได้แก่ ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม คติธรรม ตลอดจนศิลปะ วรรณคดี และระเบียบแบบแผนของขนบธรรมเนียมประเพณี

Top